ยินดีต้อนรับสู่ สุรพงศ์บ็อกๆ

ยินดีต้อนรับสู่ สุรพงศ์บ็อกๆ ยินดีรับใช้ "ใครมีอะไรดีมาแลกมาเปลี่ยน ความรู้เป็นสิ่งที่ยิ่งให้ยิ่งได้ครับผม" บ็อกๆๆๆๆ

คลังบทความของบล็อก

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คุณธรรมสี่ประการของผู้นำ พระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่ง


คุณธรรมสี่ประการของผู้นำ พระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่ง

พระธรรมเจดีย์เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร และเจ้าคณะภาค 13 แสดงพระธรรมเทศนาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชินีนาถ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี
     
       สรรพกรณียกิจที่สมเด็จบรมบพิตร และพระราชภคินีบพิตร ทั้งสี่พระองค์ ที่ทรงพระราชอนุสรณ์ถึง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายนั้น ได้ดำเนินไปด้วยดี และสม่ำเสมอ รับพระราชทานแสดงได้ว่า นอกจากเกิดจากพระขันติธรรม และพระบารมีธรรมเป็นที่ตั้ง มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ แก่ประชาชน มิได้มีพระราชกมล ปรารถนาจะได้อะไรจากประชาชนตอบแทน แล้วยังทรงกอรปด้วยพระคุณธรรมของผู้ปกครองอีก สี่ประการ สมด้วย พุทธภาษิตบรรหาร ที่มาในมหานิบาตชาดก ขุททกนิกาย ที่แปลความได้ว่า
     
       
ผู้ปกครอง ผู้เป็นใหญ่ หรือผู้นำสังคมต้องมีคุณธรรม คือ ความขยันหมั่นเพียร ในสิ่งที่เรียกว่า การงานหนึ่ง ความไม่ประมาทหนึ่ง ความมีปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ หนึ่ง ความเป็นผู้จัดแจงการงานหนึ่ง ดังนี้
     
       อันคุณธรรมทั้งสี่ประการนี้มีมาแต่โบราณ ท่านวางเป็นหลักการ ใช้กันมาทุกยุคทุกสมัย ด้วยว่า ถ้าผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ หรือผู้บริหารจัดการสังคมทั้งระดับบนและระดับล่าง ปฏิบัติตามคุณธรรมเหล่านี้ ความเจริญรุ่งเรืองความวัฒนาสถาพรของสังคม ประเทศชาติ จึงจะมีได้ เรียกว่าได้ผู้ปกครอง ผู้นำ ผู้บริหารที่มีคุณธรรม และมีคุณภาพ ทีเดียว
     
       การพัฒนาสังคมประเทศชาติที่ต้องล้มลุกคลุกคลานไม่ประสบความสำเร็จ เท่าที่ควร เป็นเพราะผู้ปกครอง ผู้นำ ผู้บริหารสังคม ไร้คุณธรรม และไร้คุณภาพนั่นเอง
     
       
ประการที่หนึ่ง ความขยันหมั่นเพียรในสิ่งที่เรียกว่า การงาน มีอรรถาธิบายว่า ภาวะของน้ำใจ ที่ตื่นตัวอยู่เสมอ พร้อมที่จะลุกขึ้นทำงานทุกขณะ คิดไปในทางก้าวหน้าตลอดเวลา กล้าที่จะเผชิญกับความลำบากในการทำงาน ไม่ว่างานนั้นจะสูงหรือต่ำ ธรรมดามนุษย์เรา ไม่ว่าจะอยู่ในเพศภูมิอย่างไร จะเป็นชาวบ้าน หรือชาววัด หากมีความขยันแล้ว เป็นอันว่าขึ้นสู่ทางที่ถูก ความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพย์ ด้วยยศ ด้วยอื่นๆ จะเกิดขึ้นตามมาโดยไม่ยาก เพราะเป็นความจริง ของโลกที่ว่า คนขยันตกอับไม่มี ส่วนคนเกียจคร้านได้ดี ก็ไม่มีเหมือนกัน
     
       เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความขยันมีแต่คุณอย่างเดียว ไม่มีโทษ ส่วนความเกียจคร้านมีแต่โทษอย่างเดียวไม่มีคุณ
     
       ผู้นำ ผู้บริหาร ผู้ปกครองทุกสังคม จะต้องทำใจเสมอว่าตนมีหน้าที่ซื้อความทุกข์ของผู้อยู่ในสังคม หรืออยู่ในหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ ถึงจะลำบากยากเข็ญก็ต้องมีน้ำอดน้ำทน ฝ่าความยากลำบากไปให้ได้ เพราะก่อนที่ตนจะเข้ารับตำแหน่งแห่งที่เป็นผู้นำ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ต้องปลงใจให้ได้ว่าเราจะซื้อความทุกข์ของผู้อยู่ในสังคมนั้นๆ มาสู่ตน และจะขายความสุขของตนให้ผู้อยู่ในสังคมนั้นๆ ถ้าปลงใจอย่างนี้ไม่ได้ หรือใจไม่ยอมปลง กลับคิดว่าเราจะซื้อความสุขของคนในสังคมมาสู่ตน และจะขายความทุกข์ของตนให้ผู้อยู่ในสังคม อย่างนี้แล้วความขยันหมั่นเพียรในสิ่งที่เรียกว่าการงานย่อมมีไม่ได้
     
       การที่ท่านสอนให้ขยันหมั่นเพียรในสิ่งที่เรียกว่า การงาน ก็แปลว่า ท่านสอนให้รู้จักหน้าที่ และทำตามหน้าที่นั่นเอง ไม่ใช่ขยันนอกหน้าที่ หรือขยันนอกเรื่อง หน่วยงานใดหรือสังคมประเทศชาติใดมีคนประเภทขยันนอกเรื่องอยู่มาก หน่วยงานนั้นหรือสังคมนั้นเติบโตยาก รุ่งเรืองยาก การงานมีแต่คั่งค้าง ไม่ก้าวหน้า และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความขยันหมั่นเพียรนี้ มีลักษณะเดินหน้าเรื่อยไป ไม่หยุด เป็นการกระทำต่อเนื่อง ไม่ใช่ขยันแบบกิ้งก่า วิ่งไปแล้วก็หยุด วิ่งไปแล้วก็หยุด และไม่ใช่ลักษณะพลุที่สว่างแวบเดียวแล้วก็หมดกัน
     
       ประการที่สอง
ความไม่ประมาท มีอรรถาธิบายว่า ไม่ประมาทในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ กล่าว คือ อย่าเห็นว่าเล็กว่าน้อยในทุกๆ เรื่อง และความหมายอีกประเด็นหนึ่งคือ อย่าเห็นแก่เล็กแก่น้อย แท้จริงในทุกเรื่อง ไม่ว่าดี หรือไม่ดี ได้หรือเสีย ผู้นำ ผู้บริหาร อย่ามองว่า เล็กน้อย เพราะความโตใหญ่ย่อมก่อตัวมาจากเล็กน้อยทั้งนั้น แม้สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ทรงสอนพุทธบริษัทเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งในส่วนพระสูตร และส่วนพระวินัย
     
       ปัญหา หรือความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของผู้อยู่ในความรับผิดชอบ ระดับผู้นำ อย่าเห็นว่าเล็กน้อย ต้องเห็นว่ายิ่งใหญ่ เสมอหรือมากกว่าปัญหา หรือความเดือดร้อนของตน แล้วหาทางขจัดปัดเป่า แก้ไขในทางที่ถูกที่ควรต่อไป แต่ถ้าผู้นำเห็นว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย นานวันเข้าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่ง ยากจนเกินกำลังจะแก้ไขก็ได้
     
       อีกอย่างหนึ่ง ตำแหน่งผู้นำ ผู้บริหาร มักจะได้รับการยอมรับ หรือโอนอ่อน ผ่อนตาม จากผู้อยู่ใต้ปกครอง หรือประชาชนในเรื่องต่างๆ และเป็นที่ไหลมาแห่งลาภผลมากมาย เพียงแต่อยู่เฉยๆ ก็เรียกว่า ตามน้ำ หากไม่ระวังใจ เป็นคนเห็นแก่เล็กแก่น้อย ยิ่งจะประสบกับความวิบัติเร็วขึ้น เพราะความเห็นแก่เล็กแก่น้อยเป็นมารดาแห่งความทุจริตทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อราษฎร์ หรือการบังหลวง ดังนั้น สังคมใด ประเทศใด มีผู้นำผู้บริหารที่ไม่เห็นว่าเล็กว่าน้อย และไม่เห็นแก่เล็กแก่น้อยในทุกเรื่อง สังคมนั้น ประเทศนั้นย่อมหวังความเจริญวัฒนาสถาพรได้ ความเสื่อมย่อมไม่มี
     
       ประการที่สาม
ความมีปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ มี อรรถาธิบายว่า หนึ่ง รู้ทางแห่งความเจริญ หมายถึง รู้ก้าว รู้เกาะ และรู้เก็บ ความก้าวหน้า เป็นเครื่องหมายของความเจริญ การก้าวนั้น ถ้าจะไม่ให้พลาด ต้องมีเครื่องเกาะ ทั้งเหตุภายนอกและเหตุภายใน ความรู้ ความฉลาด ความสามารถ และการปฎิบัติชอบ เป็นเครื่องเกาะ เพื่อป้องกันความผิดพลาด หรือ ลื่นล้ม
     
       ส่วนรู้เก็บ ตรงข้ามกับรู้ทิ้ง รู้ทิ้งใช้ไม่ได้ ส่วนรู้เก็บเป็นเรื่องสำคัญ
     
       สอง รู้ทางแห่งความเสื่อม หมายถึงรู้กัน รู้แก้ ความเสื่อมไม่มีใครชอบ ต้องรู้กัน แต่บางครั้ง ทั้งที่รู้กันก็ยังกันไม่ไหว จึงต้องรู้แก้ ทั้งรู้กัน รู้แก้ ต้องไปด้วยกันเสมอ
     
       สาม รู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์ หมายถึงรู้เท่าทันทั้งทางได้ทางเสียแท้จริง เรื่องได้เรื่องเสียนี้มีอยู่ประจำโลก ได้ไม่มีเสีย หรือเสียไม่มีได้ เห็นจะไม่มีแน่ ส่วนใครจะได้ ใครจะเสีย หรือสิ่งใดได้มา สิ่งใดเสียไปนั้น เป็นอีกเรื่อหนึ่ง โบราณท่านสอนให้เทียบเคียงดู คือเทียบได้ เทียบเสียในการกระทำอะไรลงไปตามหน้าที่ ถ้าเป็นการเสียเพื่อได้ควรทำ เช่น ชาวนาลงทุนเอาข้าวไปหว่านในนา แน่นอนต้องเสียพันธุ์ข้าวในเบื้องต้น แต่เป็นการเสียเพื่อได้ข้าวในภายหน้า ส่วนการได้เพื่อเสียเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ตัวเราได้แต่คนอื่นต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล ผู้นำผู้บริหาร ไม่ควรจะทำเลย
     
       ประการที่สี่
การจัดแจงการงานดี มีอรรถาธิบายว่า ทำงานรวดร็ว เรียบร้อยได้ผลงาน เพราะมีคุณสมบัติสองอย่าง กล่าวคือ สามารถทำหนึ่ง สามารถจัดหนึ่ง การงานจึงไม่เสียหาย ไม่เสียเวลาทำงาน ทำได้เหมาะสม ไม่สักแต่ว่าทำ ความสามารถทำ และความสามารถจัด เป็นหลักสำคัญที่ขาดไม่ได้ ในกิจการทั้งปวง ผู้นำหรือผู้บริหาร ต้องทำได้ ด้วย ต้องจัดได้ด้วย ถึงคราวทำก็ทำได้ ถึงคราวจัดก็จัดได้ เรียกว่ามือเก่ง ปากเก่ง มือทำได้ ปากสั่งได้ บุคคลบางคนสามารถจัดได้ คือสามารถแนะนำได้ว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แต่พอให้ลองทำดู ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น เข้าตำราที่ว่าดีแต่พูด
     
       การจัดแจงการงานดีนั้น ต้องอาศัยการฝึกฝน ขยันทำงาน หาความรู้ ความชำนาญในการทำงานนั้น เป็นคนสู้งาน ไม่หนีงาน เพราะคนหนีงาน มักเป็นคนเขลา หนีความรู้ หนีความชำนาญ ที่ตนควรมีควรได้นั่นเอง ความเป็นผู้สามารถทำได้ด้วยตนเอง เป็นการแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัว ส่วนความเป็นผู้สามารถจัด เป็นการแสดงศักยภาพนั้นให้ปรากฏแก่ผู้อื่น ผู้นำ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง จึงไม่ควรมองข้ามคุณธรรมข้อนี้
     
       จริงอยู่ อันกลไกของการบริหาร การปกครองนั้น มีผู้รู้แสดงทัศนะว่าจะให้ตรงอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ต้องคดบ้าง งอบ้าง ตามวิสัย และจังหวะ ไม่ควรตำหนิว่าเป็นเรื่องไม่หมาะไม่ควรไปเสียทั้งหมด เพราะในเมื่อการคด การงอนั้น ดำเนินไปโดยแยบคาย มุ่งหมายประโยชน์ส่วนรวม ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลักสำคัญ ดังคำประพันธ์ของนักปราชญ์ที่ว่าคดเข้าวง ตรงได้เส้น งอเป็นฉาก จะเอ่ยปาก ติกันไม้อันไหนไม้สามอันนี้ เมื่อพิจารณาแล้วจะติไม้อันไหนได้ จะติว่าคด ก็คดเข้าวง จะติว่าตรงก็ตรงได้เส้น จะติว่างอ ก็งอเป็นฉาก จึงเป็นเรื่องที่ผู้นำ ผู้บริหารผู้ปกครอง ควรพิจารณา
     
       
คุณธรรมทั้งสี่ประการ ดังรับพระราชทานถวายวิสัชนามานี้ เป็นกลไกการปกครอง การบริหาร ที่โบราณท่านนำมาอบรมสั่งสอนเพื่อเป็นทุนไว้ในใจของผู้ปกครอง ผู้นำสังคม ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับสูง หากผู้นำ ผู้ปกครองทุกสังคม สามารถปฏิบัติตามได้ เชื่อว่า ความเจริญ รุ่งเรือง ความมั่นคง ความมั่งคั่ง ความวัฒนาสถาพร จะเกิดมีได้อย่างแท้จริง
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000071244 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น