ยินดีต้อนรับสู่ สุรพงศ์บ็อกๆ

ยินดีต้อนรับสู่ สุรพงศ์บ็อกๆ ยินดีรับใช้ "ใครมีอะไรดีมาแลกมาเปลี่ยน ความรู้เป็นสิ่งที่ยิ่งให้ยิ่งได้ครับผม" บ็อกๆๆๆๆ

คลังบทความของบล็อก

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สรุปการบรรยาย"เปิดโรงเรียนสู่สากล" คุณเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์


สรุปคำบรรยาย
เรื่อง เปิดประตูสู่อาเซียน เปิดโรงเรียนสู่สากล
โดย นายเกียรติชัย  พงษ์พาณิชย์

                สวัสดีท่านผู้เข้าร่วมการสัมมนา  ถ้าจะเอาอย่างที่อาจารย์ผดุงชาติพยายามเน้นบอกเราถึงการเปิดประตูสู่สากลอะไรต่างๆก็ดี  จะต้องให้ความสำคัญกับภาษา  อันดับแรกก็รู้สึกดีใจและขอบคุณที่ให้โอกาสมาพูดคุยด้วย  ในเรื่องที่น่าสนใจมาก  โดยเฉพาะเห็นด้วยกับอาจารย์ผดุงชาติอย่างมาก  ที่ชื่อหัวข้อเรื่องที่พูดในวันนี้น่าสนใจมาก  แค่ชื่อเรื่องก็ให้ภาพให้ความรู้สึกถึงโลกทัศน์ที่กว้างไกลของพวกเรา  และก็ทันสมัยกับยุคโลกาภิวัตน์ที่ก้าวเข้ามาถึงแล้ว
                โลกาภิวัตน์ถ้าเริ่มแรกเป็นพื้นฐานพวกเราก็คงจะพอตามกันทัน  แต่โลกาภิวัตน์เป็นกระแสหลักซึ่งการศึกษาสมัยใหม่ให้ความสนใจ เพราะโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่าง  อาจจะเป็นฐานของความคิดของการศึกษาสมัยใหม่ต่อไป  ซึ่งเป็นเรื่องที่นักศึกษาปริญญาโท  ปริญญาเอกต้องศึกษา  แต่ถ้าสรุปเรื่องโลกาภิวัตน์นั้น โลกาภิวัตน์มีพลวัตที่เข้มแข็งมาก  และมันก้าวไปอย่างรวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เปิดทุกอย่าง ในลักษณะบูรณาการต่อกัน  เป็นไปในลักษณะที่กล่าวกันว่า ไร้พรมแดน  โลกาภิวัตน์ในระยะต่อไปนี้เราจะเห็นในสิ่งที่เป็นอำนาจของความเป็นรัฐชาติ  (Nation state) มันลดน้อยลงไป  แล้วจะมีลักษณะที่เรียกว่า  Global Government  คือ  โลกาภิบาลเข้ามาครอบงำบงการปฏิสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ มากขึ้น  เช่น  เรื่องของ UN, ASEAN, EU, WTO, World Bank  เป็นต้น  นี่คือโลกาภิบาลที่เข้ามาครอบงำทำลายอำนาจของ Nation  State  ให้ลดน้อยลงไป แล้วกิจการต่าง ๆ ที่เป็นกิจการในปฏิสัมพันธ์ในระหว่างประเทศองค์กรโลกาภิบาลเหล่านี้เข้ามาครอบงำ ชี้นำ  แนะนำ  มีลักษณะปรับเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรอบกว้างที่เรียกว่า ระเบียบใหม่ของโลก  New World  Order  มันเริ่มเกิดขึ้นมา  นี่คือวิวัฒนาการเริ่มต้นของโลกาภิวัตน์  และเป็นพื้นฐานของการศึกษา  การคิดการปรับเปลี่ยน  Transform ให้ควบคู่เท่าทันกับโลกาภิวัตน์ที่เข้ามา  อาเซียนก็เหมือนกัน  โรงเรียนก็เหมือนกัน  ที่เริ่มก้าวเข้าสู่แนวทางของโลกาภิวัตน์มากขึ้นทุกที    
                เมื่อพูดถึงเรื่องเปิดประตูสู่อาเซียน  ทำให้เห็นว่าการเปิดก็จะทำให้เห็นมากขึ้น  กว้างขึ้น  เปิดประตูสู่อาเซียนเป็นเรื่องซึ่งทำให้เราต้องเรียนรู้เรื่องอาเซียนให้มากขึ้น  อาเซียนเริ่มเกิดมาตั้งแต่ปี 1967 ปี พ.ศ. 2510  จนถึงเวลานี้ก็  44  ปี  ซึ่งเราจะเห็นลักษณะของอาเซียนว่ามีการรวมตัวอย่างหลวม ๆ ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน  ซึ่งปัจจุบันนี้ขยายตัวออกไป รวมแล้ว 10 ประเทศ  บนพื้นฐานหลายเรื่องด้วยกัน  เช่นการร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน  ไม่ใช่องค์กรที่เน้นหนักทางด้านความมั่นคงเหมือนอย่าง NATO  ซึ่งเกิดมาก่อน  และดำเนินไปในทางที่เรียกว่า ASEAN WAY วิถีทางของอาเซียน  เพราะฉะนั้นหลักสูตรของวิชาที่เกี่ยวกับอาเซียนกำลังเริ่มคิดเริ่มทำกันในหลาย ๆ สถาบันการศึกษา มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอาเซียนมากทีเดียว  ดังนั้นเราจะเห็นว่าจุดเริ่มแรกของอาเซียนมาอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน  และมีการขยายตัวจนได้เกิดแนวคิด  หมายถึงประชาคมอาเซียน  ในระยะไม่นานมานี้ก็จะเห็นว่าจุดหมายของการรวมตัวเป็นอาเซียน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ  ในช่วงนี้เราจะเห็นการทำ FTA  ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน  FTA ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น  FTA ระหว่างอาเซียนกับ  EU  หรือกับประเทศต่าง ๆ มันเกิดขึ้นมากมาย  นี้ก็เป็นไปตามเป้าหมายหลักเดิมของอาเซียน  มีการขยายตัวขึ้นมา มีการพูดถึงแนวคิดในการที่จะสร้างประชาคมอาเซียน  เป็นแนวคิดซึ่งต้องการจะหลอมรวมประชาคมทางด้านความมั่นคง  ด้านเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมขึ้นมา นี้เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่เกิดขึ้น
               ความคิดเรื่องประชาคมอาเซียน  เป็นเรื่องที่ปรากฏในกฎบัตรของอาเซียน  ที่เรียกว่า  Asian Chatter  ได้มีการประกาศตกลงกันในการประชุมอาเซียนที่ภูเก็ต  สิ่งที่เกิดในอาเซียนหลาย ๆ เรื่อง เป็นความริเริ่มของประเทศไทย  ความริเริ่มการก่อตั้งอาเซียนก็เหมือนกัน เริ่มมาจาก Bangkok Declaration สมัยท่านถนัด  คอนมัน  และอีกหลายเรื่องที่เริ่มจากประเทศไทย   ฉะนั้นเรื่องสำคัญที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอาเซียนในปัจจุบันมีจุดกำเนินมากจากความริเริ่มของประเทศไทย            เรื่องกฎบัตร Chatter   กฎบัตร Asian    ที่สร้างประชาคมอาเซียนต่าง ๆ ก็เกิดที่ภูเก็ตในปี 2552 นี่เอง  กฎบัตรอาเซียนก็เป็นไปตามแผนปฏิบัติการของเวียงจันทน์   และมีกัวลาลัมเปอร์เดแคล์เรชั่น ที่กำหนดเรื่องการทำกฎบัตรอาเซียน  กับกฎบัตรซิว ของประเทศฟิลิปปินส์ ว่าด้วยแผนแม่บทต่าง ๆ ของกฎบัตรอาเซียน  ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการสร้างประชาคมอาเซียนมีความเป็นมาอย่างไร จุดประสงค์ในกฎบัตรอาเซียนข้อหนึ่งที่เขียนไว้ชัดเจนว่า  เพื่อส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางซึ่งสู่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องได้รับการส่งเสริมร่วมกันและได้รับผลประโยชน์จากการรวมตัวและการสร้างประชาคมอาเซียนนี้เป็นจุประสงค์สำคัญที่ยกมาให้เห็น  ถึงในกฎบัตรอาเซียนที่ร่างกันขึ้นมาแล้วก็ลองปฏิบัติแล้ว  เพราะฉะนั้นตรงที่บอกว่า  การสร้างประชมคมอาเซียนสำคัญมาก ซึ่งมีหลายเรื่องที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการที่เตรียมจะเป็นประชาคมอาเซียน  มี 34 ประเด็นที่ผมเคยเสนอในที่ประชุมว่า  เพื่อที่จะให้ความพยายามรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนนั้นมันมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องสร้างขึ้นมา      ในแต่ละประเทศสมาชิกต่าง ๆ เพื่อที่จะรวมเป็นสมาคมอาเซียนใน  3  ลักษณะด้วยกัน
                1. Share value   คือการมีคุณค่าร่วมกัน  มีปัจจัยหลายอย่างเหลือเกินในอาเซียนทั้งในส่วนของประชากร  ทั้งในระดับของการต้องการพัฒนา  การศึกษา  การปกครองต่าง ๆ   ถ้าหากจะต้องรวมเป็นประชาคมอาเซียนจะต้องมี Share value  อันใดอันหนึ่งมาร่วมกัน  เช่น Share  Value  ความเป็นประชาธิปไตย  ถ้าเปิดการ Share Value  การปกครองด้วยความเป็นประชาธิปไตย  การบูรณาการเป็นสังคมเดียวกันก็จะง่ายขึ้น  มีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนจาก EU   เพราะ  25  ประเทศที่รวมตัวกัน ทุกประเทศมีรูปแบบการปกครองเป็นเดียวกัน คือเป็นประชาธิปไตย  เพราะฉะนั้นการพัฒนา  การบูรณาการ  เพื่อประโยชน์ร่วมกันในประเทศสมาชิก EU  เป็นไปได้ง่าย และก้าวหน้าไปกว่าอาเซียนมาก  ดังนั้นกลุ่มอาเซียนที่ต้องการรวมตัวกัน สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างก็คือ  Share  Value   ประเด็นนี้การศึกษาจึงเข้ามามีบทบาท
                2.  Common  Concerns   มีเรื่องซึ่งเป็นประเด็นอันน่าห่วงใยร่วมกัน  จะได้ร่วมมือช่วยเหลือกัน  ประเด็นอันน่าห่วงใยร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาวะแวดล้อมในอาเซียน กรณีไฟไหม้ในอินโดนีเซีย มีผลกระทบมาถึงมาเลเซีย  รวมไปถึงภาคใต้ของไทย  เป็นปัญหาอันหนึ่ง ที่อินโดนีเซียแก้ไขไม่ได้  แต่ประเทศในอาเซียนจะต้องร่วมมือช่วยกัน  ปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่เห็นได้ชัดอีกอันหนึ่งคือ ปัญหาการก่อการร้าย  อาชญากรรมข้ามชาติ  การค้ามนุษย์ข้ามชาติ   ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอาเซียนที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง  ซึ่งอำนาจของ Nation State   ไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เป็นประเด็นหลักของโลกได้  หลาย ๆ ประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข  การแก้ไขปัญหาร่วมกันก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรวมกันของอาเซียนแนบแน่นสนิทขึ้น ดีขึ้น เร็วขึ้น
                3.   Infrastructure กับ Copiloted   การเชื่อมโยงกันในลักษณะการติดต่อ  โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  ในขณะนี้จะเห็นว่าการสร้างถนนเพื่อที่จะติดต่อในอาเซียนทำไปในหลาย ๆ  ประเทศ  นี้เป็นการเชื่อมโยงในโครงสร้างพื้นฐาน ทำการติดต่อซื้อขายทำได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมไปถึงด้านการศึกษา ก็มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น
                คนไทยมีความรู้เรื่องอาเซียนน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ  ประเทศลาวเป็นประเทศสมาชิกใหม่ในกลุ่มอาเซียน แต่ก็ยังมีความรู้ในเรื่องอาเซียนมากกว่าไทยเสียอีก   และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญอันจะร่วมประเทศอาเซียนให้เป็นหนึ่งได้  นั่นก็คือการทูตภาคประชาชน   และตรงนี้เองที่การศึกษาจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก  รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม            ทั้ง 3 4 ประเด็นนี้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรวมตัวของอาเซียน
                ภายใต้ปัจจัยการหลอมรวมตัวเป็นอาเซียน ก็มีเรื่องของการศึกษาเข้ามา  เพราะฉะนั้น การศึกษาก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะเปิดประตูอาเซียน  และก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล  ในเรื่องของการศึกษาที่ริเริ่มในเอเชียแปซิฟิค  ในระยะเวลาไล่เลี่ยกับอาเซียน อันหนึ่งที่ได้เริ่มมาพร้อมๆ กัน นั่นก็คือ องค์กรมนตรีการศึกษาของเอเชียอาคเนย์   ก็ยังคงดำเนินงานอยู่
                ในส่วนของความร่วมมือด้านการศึกษาของอาเซียนโดยตรงเท่าที่เห็นในระดับสูง  มีอยู่ที่เดียวที่ Inter Asian  Education  Institute  ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และตั้งมาไม่กี่ปีนี้เอง  อาเซียนก็มีแนวคิด แต่ยังไม่สามารถทำได้  มีความคิดที่จะตั้งมหาวิทยาลัยของอาเซียนโดยเฉพาะ  ซึ่งเป็นความคิดตามแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งตั้งมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ  ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น   จะเห็นได้ว่า เขาให้ความสนใจกับการศึกษา  เพราะการศึกษาหลอมรวมร้อยรัดที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน   บูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ด้วย
                การศึกษาในอาเซียนโดยรวมแล้วก็จะไม่ต่างกัน   การจัดการศึกษาในอาเซียนเป็นการสนองตอบต่อความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาเป็นสำคัญ  อย่างเช่นประเทศในฝั่งตะวันตกการศึกษาก็เริ่มที่โบสถ์  ส่วนของเราก็เริ่มที่วัด  ต่อๆ มา ก็ใช้รูปแบบของตะวันตกผสม   ดังนั้นการจัดการศึกษาที่สนองตอบต่อความเชื่อและความศรัทธา ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ  ในหลาย ๆ ประเทศหรือเกือบทั้งหมดของประเทศสมาชิกในอาเซียนเคยตกเป็นอาณานิคมของชาติอื่น ๆ มาก่อนแล้ว  เพราะฉะนั้นพ้นจากประเทศอาณานิคม  มาเป็นประเทศอิสระมากขึ้น  ดังนั้นจะเห็นว่าการจัดการศึกษาของประเทศเหล่านี้ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างชาติ  เมื่อมาเป็นประเทศเอกราช ทำให้ประเทศเหล่านี้ขาดคนที่มีการศึกษาดี ที่จะมาบริหารประเทศ  ดังนั้นการจัดการศึกษาในช่วงนี้ เป็นการแสวงหาคนที่มีการศึกษามาบริหารประเทศ  เป็นการจัดการศึกษา สร้างการเรียนรู้เพื่อหาชนชั้นผู้ปกครองมาบริหารประเทศ  ประเทศไทยของเรา ระยะเริ่มแรกก็จัดการศึกษาเพื่อสร้างคนมาบริหารประเทศ 
                เมื่อหาคนมาบริหารประเทศได้แล้วก็ต้องพัฒนาเศรษฐกิจ  สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และหลาย ๆ ประเทศก็เน้นสร้างความมั่นคง  หลังปี 1945  ซึ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่  2  และก้าวเข้ามาสู่ยุคของสงครามเย็น  สงครามเย็นเป็นการต่อสู่ระหว่างลัทธิสังคมนิยมและประชาธิปไตยเสรี  เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการศึกษาในตอนนี้จะเน้นในเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  ความมั่นคงของประเทศมากขึ้น  เน้นป้อนคนเข้าสู่การบริหารประเทศ   เมื่อสร้างคนมาบริหารประเทศแล้ว ก็หักเหห่างออกจากการจัดการศึกษาสร้างคนบริหารประเทศ ก็มาเน้นในด้านเศรษฐกิจ  ด้านวิชาการ  และด้านบริหารรัฐชาติเป็นสำคัญ  ในประเทศไทยของเราจะเห็นได้ชัดว่า ยุคแรกของการจัดการศึกษาเน้นในเรื่องของทักษะเป็นพิเศษในการจัดตั้งสถาบันการศึกษา   เช่น การจัดตั้งโรงเรียนแพทย์  มหาวิทยาลัยกองทัพบก  กองทัพเรือ  วิทยาลัยช่างสำรวจ  วิทยาลัยช่างเกษตรกรรม  โรงเรียนไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น  นี่เป็นการศึกษาเน้นทักษะที่จะมาทำงานของภาครัฐเป็นหลัก  มีโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  จนถึงขนาดจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ในปี 2460  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง 2476 มหาวิทยาลัยมหิดล เกษตรศาสตร์ 2486  และมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ที่เชียงใหม่ ในปีเดียวกันเป็นต้น
                เมื่อเปลี่ยนจากประเทศอาณานิคมมาเป็นเอกราชแล้ว  อาเซียนตกอยู่ในยุคสงครามเย็น  สงครามเย็นก็เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง  เพราะฉะนั้นการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ  ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเข้มแข็งทางการเมืองก็เป็นแนวนโยบายของหลายประเทศในขณะนี้  และก็เป็นปัจจัยสำคัญ  ในยุคสงครามเย็นเป็นการต่อสู้กันเองในระหว่างลัทธิ  ทำให้ขาดช่วงการพัฒนาทางการศึกษา  ขาดการเปลี่ยนแปลงตามกระแสต่าง ๆ จนถึงยุคโลกาภิวัตน์  ตัวอย่างที่เห็นชัดในการขาดช่วง หรือแนวคิดที่ไม่ได้เน้นถึงการพัฒนาการศึกษาในประเทศอาเซียน  เช่น ประเทศพม่าในช่วงที่เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย ปี 1988  คณะปฏิวัติได้พูดในแถลงการณ์ชัดเจนเลยว่า  จะยังไม่ส่งเสริมเรื่องการศึกษาและการสาธารณสุข   เพราะฉะนั้นประเทศพม่าจึงล้าหลังในเรื่องของการศึกษา   ต้องไปดูเรื่องการศึกษาว่า เขาทำอย่างไร ตั้งแต่เมื่อเนวินขึ้นยึดอำนาจในปี 1962  เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา  คือในระบอบสังคมนิยมก็จะมีลักษณะเป็นแบบนี้ เพราะใครฉลาดกว่าก็จะยุ่งยาก  จนถึงปี 1974  ประเทศพม่าประกาศว่าไม่ให้เรียนภาษาอังกฤษ  มีการเรียกร้องใหม่ในปี 1988  ก็ประกาศว่า จะไม่ส่งเสริมเรื่องการศึกษา และการสาธารณสุข  จนถึงปัจจุบันนี้ 20 ปีกว่า แล้วก็ยังไม่พัฒนาขึ้น
                และต้องไปดูการศึกษาของแต่ละประเทศ  เช่น ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ได้รับเอกราชการแยกตัวออกมาจากการเป็นสมาพันธ์มาเลเซียในปี 1965  ก็เป็นการศึกษาเพื่อสร้างชาติ  ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 1960  แทบจะไม่มีคนที่มีความรู้จบมหาวิทยาลัยมาทำงาน  ประเทศฟิลิปปินส์  ตั้งแต่ปี 1945   ถูกครอบงำโดยระบบอเมริกันทั้งหมด   เหล่านี้น่าสนใจ ถ้าเราต้องการดูการศึกษาในอาเซียนว่าทำอย่างไร  ประเทศบรูไน ซึ่งเริ่มเข้ามาเป็นประเทศสมาชิกในปี 1995 กับอาเซียน  เป็นประเทศที่เข้มข้นทางศาสนา ประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 1945  อยู่ในยุคของซูกาโน่ เป็นยุคที่ชาตินิยมเข้มข้นมาก  และหลักปัญจสีละ 5 ข้อของเขาไม่ได้มีเรื่องของการศึกษาเลย  จนมาถึงยุคของซูฮาโต้ ๆ ก้าวลงจากอำนาจในปี 1998  การพัฒนาด้านการศึกษาก็ยังไม่พัฒนามาก  แต่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่น่าสนใจมากในอาเซียนในขณะนี้  พอหลังจากซูฮาโต้ก้าวลงจากอำนาจในปี 1998  การพัฒนาความเป็นประชาธิปไตย  และการสร้างสังคมประชาธิปไตยก้าวหน้าไปมาก   จนนับได้ว่าประเทศอินโดนีเซียเป็นพี่ใหญ่ของอาเซียน
                ประเทศเวียดนามก็เป็นประเทศที่น่าสนใจมาก  การคัดเลือกผู้นำของประเทศเวียดนาม และการนำนโยบายในเรื่องการพัฒนาการศึกษา  จนทำให้เรารู้สึกว่าประเทศเวียดนามเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย  แล้วก้าวหน้ากว่าประเทศไทย เขาทำกันอย่างไร
                ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงชี้ให้เห็นคร่าว ๆ ว่าการจัดการศึกษาในอาเซียนยังไม่ได้พัฒนาไปได้ดีเท่าที่ควร  ในประเทศไทย ยังต้องมาปฏิรูปการศึกษากันในรอบสอง  การพัฒนาการศึกษาในอาเซียนโดยรวม เราจะเห็นแนวโน้ม และแนวทางที่อาเซียนจะดำเนินการด้านการศึกษาในกรอบและในแนวทางของสหประชาชาติเป็นสำคัญ  เราซึ่งศึกษาทางการศึกษาอาจจะเคยได้ยินแนวทางที่องค์การสหประชาชาติกำหนด  และหลายประเทศยึดถือ  และเกือบทุกประเทศในอาเซียนนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาการศึกษา คือเรื่อง Education For  All  ในหลายประเทศในอาเซียนนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษา
                Education For  All  เราจะเห็นว่าเน้นในเรื่องคุณภาพ  ความเสมอภาค  การจัดการด้านคุณภาพ การจัดการด้านทรัพยากรทางการศึกษา และเรื่องของการวางแผนทางการบริหาร  3 – 4 ประการที่กล่าวมานี้  หลาย ๆ ประเทศในอาเซียนนำมาเป็นแนวทางปฏิรูปการศึกษาในประเทศของตน ๆ    ประเทศไทยก็ใช้หลักการเหล่านี้เหมือนกัน
                ประเทศที่น่าสนใจก็คือประเทศเวียดนาม ซึ่งเขาจัดทำการศึกษากันอย่างไร  ประเทศเวียดนามก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศทั่วไป  แต่ลักษณะพิเศษของประเทศเวียดนามทำให้เขาก้าวไปได้เร็ว  และจะเป็นคู่แข่งของเราในอนาคตต่อไป  ประเทศเวียดนามนั้นต้องอยู่ในแอกอาณานิคมของชาติอื่นมานาน  ต้องใช้เวลาถึง  30  ปี  ในสนามรบเพื่อแยกตัวเองออกมาเป็นอิสระอย่างเช่นปัจจุบัน  เริ่มแรกเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945  ก็ยังอยู่ในอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส  จนสามารถรบชนะฝรั่งเศสในศึกเดือนเดียน เมียน ฟู  ในปี 1954  ผลจากการชนะศึกเดือน เดียน เมียน ฟู ทำให้เวียดนามแยกออกเป็น 2 ประเทศ คือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้  จากนั้นก็ตกอยู่ภายใต้สงครามเย็นที่มีการสู้รบต่อต้านลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และลัทธิเสรีประชาธิปไตย ที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ  เพราะฉะนั้นสงครามเวียดนามที่เกิดขึ้น  หลังจากแยกตัวออกมาเป็นเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้  เพื่อที่จะรวมตัวกันได้นั้น ต้องใช้เวลาอีก  20 ปี   จนมาชนะศึกเวียดนามกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ในปี 1975   แต่ก็ยังเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการสู้รบกับศึกเขมรแดงในประเทศกัมพูชาอีก  จนกระทั่งประเทศจีนทำสงครามขับไล่เวียดนามก็ต้องถอนกำลังทหารออกมาในปี  1989  
                ปี  1989  เป็นปีที่สงครามเย็นเริ่มสิ้นสุด  จากนั้นผู้นำของประเทศเวียดนาม ซึ่งสามารถรวมตัวกันได้ก็ประกาศนโยบาย “โด่เหมย”  คือการเปลี่ยนแปลงใหม่ของประเทศเวียดนาม  จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 21 ปีแล้ว และก็เป็นเวลาช่วงเดียวกับที่เติ้งเสียวผิงประกาศ 4 ทันสมัย  นี่เป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำแต่ละประเทศที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์  เริ่มตั้งแต่สงครามเบอร์ลิน  กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย  ในวันที่ 9  เดือนพฤศจิกายน  ปี 1989  นั่นเป็นสัญลักษณ์สิ้นสุดสงครามเย็น นโยบายโด่เหมยก็ประกาศในช่วงนั้น
                ประเทศไทยเองก็ไม่ได้ช้าไปกว่าประเทศอื่น  ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองในขณะนั้น  ในช่วงนั้นอยู่ในช่วงรัฐบาลของชาติชาย  ชุณหะวัน  ในปี 2532  ชาติชาย ชุณหะวัน ประกาศเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า  รองรับโลกาภิวัตน์ที่ก้าวเข้ามาเหมือนกัน  สาเหตุที่โด่เหมยของเวียดนามทำได้เร็ว 1. เปิดประเทศ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมกับอาเซียนในปี 1996  2.เปิดให้มีการลงทุน  การเปิดการลงทุนทำให้มีการ Transfer technology ฐานการผลิตแรงงาน ซึ่งเขาได้เปรียบ นี้เป็นส่วนช่วยเสริมเข้ามา 3. ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมให้เป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมที่นำโดยการตลาด  และที่สำคัญเขาเร่งรัดพัฒนาการเกษตร ดังนั้นเวลานี้ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ส่งข้าวแข่งรองจากประเทศไทย และจะก้าวนำประเทศไทยไปในอนาคต  4. พัฒนาการศึกษา  เพื่อสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงหลังจากรับเอกราชที่ผ่านมา   เริ่มแรกคนเวียดนามพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลยเพราะอยู่ใต้ฝรั่งเศสมานาน  แต่ตอนนี้พูดภาษาอังกฤษดีขึ้นมาก  และขณะนี้เขาพัฒนาด้านการพัฒนาคน พัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่ชุมชนโลกแล้ว  และเขาประกาศแล้วว่าจะเป็นประเทศสังคมอุตสาหกรรม
                เพราะฉะนั้น การเปิดประตูสู่อาเซียนอย่างประเทศเวียดนาม ก็เหมือนการเปิดประตูเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เข้าสู่ความเป็นสากลมีการแข่งขัน และการแข่งขันก็ต้องเร่งสร้างสมรรถนะความสามารถของประเทศให้ดีขึ้น  ฉะนั้นการสร้างสมรรถนะต้องเร่งพัฒนาการศึกษา  ประเทศเวียดนามทำให้เห็นว่าต้องพัฒนาการศึกษาให้เข้มแข็ง  สร้างความรู้เฉพาะทาง สนองตอบต่อตลาดแรงงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น  ที่น่าสนใจคือตลาดการศึกษา ที่ประเวียดนามได้เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนด้วย
                ฉะนั้นในกลุ่มอาเซียน การศึกษาจึงเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่สำคัญในอนาคต  เพราะว่าเมื่ออาเซียนร่างกฎบัตรของอาเซียนขึ้นมาแล้ว จะมีหลักการเรื่องรวมอาเซียนให้เป็น Asian community จะเห็นว่าในการสร้างสังคมวัฒนธรรม  การศึกษาเป็นตัวร้อยรัดที่สำคัญ  ทุกประเทศก็เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ฉะนั้นการสร้างหลักสูตรเรื่องอาเซียนในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยเรา เริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น
                การเปิดประตูสู่อาเซียนก็จะทำให้มองเห็นภาพกว้างๆ อย่างนี้   ในเรื่องการศึกษา เรื่องการเปิดโรงเรียนสู่สากลมันเป็นการมองไปยังอนาคตการศึกษา  และจะได้กำหนดทิศทางให้เป็นไป  เพราะฉะนั้นกรอบความคิดที่จะเปิดโรงเรียนสู่สากลมันถูกเงื่อนไขของโลกาภิวัตน์เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ   บนพื้นฐานที่กำหนดนี้ ถ้าการศึกษาไม่สามารถสร้างสมรรถนะในการสร้างความสามารถตามกระบวนโลกาภิวัตน์แล้ว เราก็จะถูกทิ้ง  เพราะเราตามเขาไม่ทัน ในเรื่องการแข่งขันของโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นคือนวัตกรรม  Innovation  ตัวนี้ซึ่งเป็นการแข่งขันให้เห็นในยุคโลกาภิวัตน์นี้ยกตัวอย่างง่าย ๆ  มือถือนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่สำคัญมาก เราจะเห็นว่าประเทศที่สร้างนวัตกรรมที่สำคัญใหม่ขึ้นมาได้ และสามารถแข่งขันกับนานาชาติในระดับต่างได้ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ไม่ใหญ่โตเลย สามารถสร้างนวัตกรรมมือถือมาแข่งขันกับนานาชาติได้  ในข้อนี้เราคงจะต้องคิดว่าถ้าจะสร้างสมรรถนะในความสามารถที่จะแข่งขันกับใครได้หรือไม่  เราจะต้องคิดว่าเราจะต้องทำอย่างไรที่จะสร้างตัวนวัตกรรมที่จะสู้กับเขาได้
                นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ R and D  การวิจัยและการพัฒนา ซึ่งในหลายประเทศลงทุนในเรื่องนี้เป็นอันมากที่จะสร้างมหาวิทยาลัยให้อยู่ในระดับโลก หรือนวัตกรรมที่จะสู้กับเขาได้ เพราะฉะนั้นไปดูประเทศที่เขาพัฒนาแล้วสามารถสร้างนวัตกรรมไปแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ในขณะนี้ได้ เราจะเห็นตัวหนึ่งซึ่งผมเอามาอธิบายอยู่เสมอว่า เราต้องเน้นสิ่งที่เรียกว่า “STEM Field  ถ้าหากว่าจะจัดการศึกษาไปสู่สากลและสร้างนวัตกรรมที่จะสู้กับเขาได้ S  คือ วิทยาศาสตร์ T คือ เทคโนโลยี E ก็คือ Engineering  และ M ก็คือ Management เพราะฉะนั้นในสายวิทยาศาสตร์จะต้องเน้นไปที่ STEM Field ตัวนี้ให้มาก เพราะทั้งสี่ตัวนี้เป็นตัวที่จะสร้าง Innovation  ก็คือจะเป็นตัวที่จะนำการแข่งขันไปสู้กับเขาได้ มือถือของฟินแลนด์ก็เป็นตัวอย่าง และถ้าจะพัฒนาการศึกษาก้าวไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์แข่งขันกับอาเซียนด้วยกันให้ได้ในแง่ของสังคมศาสตร์ STEM Field ก็ยังใช้ได้อีก  S ในแง่ของสังคมศาสตร์คือ Skill  ทักษะ  T  คือ Technology เทคโนโลยี  E  คือ Ethicจริยธรรมและจรรยาบรรณแล้วตัว M ในสายวิทยาศาสตร์จะเป็น  Mathematic แต่ในสายสังคมศาสตร์จะเป็นตัว Management   STEM Field ในสายวิทยาศาสตร์จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า  Capacity building สร้างความสามารถอันให้เกิดขึ้นในอันที่จะไปแข่งขันกับเขาในยุคโลกาภิวัตน์ได้
                เพราะฉะนั้นตัวนี้อาจจะไม่ใช่โมเดลแต่เป็นตัวที่เราจะต้องคิดแหละว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาใช้ตัว STEM Field ตัวนี้มาเป็นหลักในการพัฒนาการศึกษาของเขาอย่างเข้มแข็ง แต่ว่าจะเข้มแข็งได้นั้นภาครัฐหรือว่าภาคไหนก็ตาม จะต้องทุ่มเทในเรื่อง R and D อย่างเต็มที่  และมีหลายเรื่องที่จะต้องทำ  การที่จะสร้างมหาลัยได้นั้นเราจะต้องรวบรวมอัจฉริยะทั้งหลายเข้ามาอย่างไรถึงจะยกระดับมหาวิทยาลัยของเรา แล้วทำ STEM Cell นี้สู้กับเขา 1.หมั่นสร้าง Innovation  2. หมั่นสร้าง Capacity building   ในการที่จะแข่งขันกับเขาได้   สิ่งที่เรียกว่าแข่งขันคือ ไปตอบสนอง ไปเผชิญหน้าไปแก้ปัญหา สิ่งที่เรียกว่าเป็นการท้าทายในโลกปัจจุบันเป็น Global Challange   โกลเบิลชาเล้นที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง 1. เรื่องการลดความยากจน 2. เรื่องการลดโรคภัยไข้เจ็บ 3. เรื่องการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน 4. เรื่องการควบคุมการแพร่ขยายของนิวเคลียร์ 5. เรื่องการต่อสู้กับการก่อการร้าย 6. เรื่องการลดโลกร้อนและการลดภาวะมลพิษ
                เพราะฉะนั้นการพัฒนาการศึกษาต้องสามารถท้าทายกับเรื่องเหล่านี้ให้ได้ นี้เป็นตัวหลักๆเท่านั้น แต่ว่าที่จะสร้างการศึกษาให้เผชิญกับการท้าทายของโลกอย่างนี้ได้   ไม่ใช่แต่ในเรื่องของการรู้ทักษะ รู้เทคโนโลยี  มี Management ที่เข้มแข็ง  หรือมี Mathematic  ที่เข้มแข็งเท่านั้น   แต่ว่าทำอย่างไรการศึกษาจะทำให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์  ความคิดเชิงวิเคราะห์วิจัยที่ดี  ที่เรียกว่า  Better  Critical  Thinking  นี้เป็นหลักสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น STEM  Cell สาขาไหนก็ตาม
                และอันสุดท้ายที่สำคัญคือ  Language Skill   ไม่เช่นนั้นแล้วจะตามไม่ทัน  เพราะฉะนั้นการเปิดประตูสู่สากล ไม่ว่าเป็นอาเซียนหรือโกลเบิลชาเล้นท์  หรือยุคโลกาภิวัตน์   ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ถ้าไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้แล้วจะตามอาเซียนไม่ทัน  ฉะนั้นท่านนักศึกษาซึ่งมีส่วนในการกำหนดนโยบาย  หรือมีส่วนจะต้องพัฒนาการศึกษาต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้ ว่าจะทำอย่างไร มีมาตรการอะไรบ้าง
                ขอสรุปว่า ในความคิดที่จะนำโรงเรียนสู่สากลอย่างนี้  ของประเทศไทยดำเนินการไปถึงไหน  สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรานั้น เป็นประเภทที่เรียกว่า จ่ายครบจบแน่ หรือเปล่า  ถึงเวลาที่เราควรจะปรับเปลี่ยน  ทำการศึกษาของเราสู่สากลในยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งประเทศเราไม่ทำก็จะไม่ทันประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น